ทองพูดได้ ไม่ได้โม้
ร้านทอง 30 ปีที่แล้วกับวันนี้มีอะไรต่างกัน? หน้าร้านติดกระจกมีข้อความแจ้งราคาซื้อ-ขาย เดินเข้ามาในร้านมีตู้ทองวางแหวน ต่างหู กำไล ส่วนผนังก็แขวนสร้อยคอรูปพรรณหลายขนาดเหลืองอร่ามตา
หน้าตาแบบนี้อาจไม่เปลี่ยนไปมากนัก ยกเว้นที่ ร้านทองเที่ยงธรรม ทองร้านนี้ตะโกนบอกผู้ดูแลร้านได้ว่า ถูกโจรกรรม!
สมสิทธิ์ ดวงเอกอนงค์ หรือ เบน ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านทองเที่ยงธรรม เป็นผู้พลิกโฉมจากร้านทองธรรมดาเป็นร้านทองไฮเทค เขานำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดการหลังร้าน แถมติดชิพให้ทองรูปพรรณทุกเส้น เรียกได้ว่า หายไปเมื่อไร รู้ได้ทันที
“ส่วนใหญ่ปัญหาทองสูญหายไม่ได้เกิดจากการโจรกรรมทองจำนวนมากในครั้งเดียว แต่เป็นการหายที่หน้าร้านระหว่างการขายให้กับลูกค้า ซึ่งต้องยอมรับว่าควบคุมได้ยากมาก” ทายาทหนุ่มผู้ลืมตามาก็เห็นทองเป็นผู้เล่า
ที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขโจทย์ดังกล่าวมาก่อน แต่สำหรับตัวสมสิทธิ์ ไม่ได้เป็นแค่ทายาทเจ้าของร้านทอง แต่ยังมีดีกรีวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ช่วยมองหาช่องทางขับเคลื่อนคลื่นลูกที่สามด้วยไอที
“ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมร้านทองเป็นอุตสาหกรรมเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมยางพารา หรือเหล็ก คนพูดถึงร้านทองก็มักจะติดภาพอุตสาหกรรมครัวเรือน เราเหมือนโดนสบประมาทมาเยอะว่าทำไมอุตสาหกรรมนี้ถึงไม่มีนักประดิษฐ์ ไม่มีคนที่อาสากระโดดขึ้นมาบอกว่าผมขอลุย” เขาเสียงเข้ม
สมสิทธิ์จึงเดินแผนปั้นธุรกิจเทคโนโลยีสำหรับร้านทองขึ้นมาเชิดหน้าชูตาภายใต้ชื่อบริษัท บริษัท โมลีคิว (ประเทศไทย)ประเดิมนำบาร์โค้ดเข้ามาใช้ระบุข้อมูลสินค้าแต่ละชิ้นเพื่อบริหารการขายและจัดเก็บ จนภายหลังถึงนำชิพอาร์เอฟไอดี หรือเทคโนโลยีคลื่นวิทยุเข้ามาแทนที่ ซึ่งสามารถรับสัญญาณจากสินค้าได้พร้อมกันคราวละมากๆ
“สินค้าในร้านทองแต่ละชิ้นมีมูลค่าสูงตั้งแต่ 2,500 บาทขึ้นไปจนถึงหลักหมื่น การที่สินค้าสูญหายไปเพียงชิ้นเดียวเจ้าของร้านทองบางเจ้าอาจไม่รู้”
เขาแจงให้ตาโตว่า ร้านทองแต่ละแห่งมีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 30 -50 ล้านบาท ถ้ายังคงบริหารงานแบบเดิมๆ คือ ตั้งหน้าตั้งตานับแหวนทีละวง สร้อยคอทีละเส้น คงไม่ต้องทำอะไรกัน ไม่ต้องคิดถึงเรื่องการขยายสาขา การมีสาขาเพิ่มในพื้นที่ใกล้กันจำเป็นต้องเทรนหลงจู๊ หรือมือขวา ที่มีความสามารถในการดูทอง นอกจากจะอาศัยประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว การไว้เนื้อเชื่อใจยังเป็นเรื่องสำคัญ จึงทำให้ธุรกิจค้าทองยังคงเป็นธุรกิจของครอบครัวเครือญาติอย่างปฏิเสธไม่ได้
จนกระทั่งกำแพงความคิดดังกล่าวถูกทลายลง หลังจากทายาทร้านทองรุ่นใหม่เริ่มเข้ามา รับมรดกทางธุรกิจมีมุมมองและเข้าใจถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับธุรกิจสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างทองรูปพรรณ และจิวเวอรี่
7 ปี กว่าจะมีหลงจู๊ไฮเทค
แต่กว่าจะได้เทคโนโลยีที่เหมาะกับการใช้งานในร้านทองไม่ใช่เรื่องง่าย เขาศึกษาและลองผิดลองถูกมาไม่ต่ำกว่า 7 ปี จากจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโปรแกรมช่วยบริหารร้านทอง เขานำความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และการจัดการเทคโนโลยีที่ร่ำเรียนมาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่เสริมธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว
“เราพัฒนาซอฟต์แวร์ของเราเอง ด้วยทุนและความรู้ที่มี ผมมีร้านทองเป็นแล็ปวิจัย เนื่องจากซอฟต์แวร์ทั่วไปที่ใช้ในร้านทองไม่ได้เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานไม่เต็มที่” ผู้บริหารร้านทองวัย 33 ปี กล่าว
เนื่องจากข้อมูลสินค้าประเภททองคำมีความละเอียดมากกว่าสินค้าประเภทอื่น เช่น น้ำหนัก ลวดลาย ราคา รวมถึงค่ากำเน็จ จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์เฉพาะ ซึ่งตัวเขาเองมองว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีต้องเกิดขึ้นจากประสบการณ์ใช้งานจริง
ความยากของการพัฒนาเทคโนโลยีในร้านทอง คือ ทำอย่างไรให้การระบุข้อมูลสินค้าด้วยคลื่นวิทยุสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการอ่านค่าจากคลื่นวิทยุอาร์เอฟไอดีไม่ถูกโฉลกกับโลหะและความชื้น หากต้องการอ่านค่าทองจำนวนมากพร้อมกันยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย อุปสรรคดังกล่าวทำให้ยังไม่เคยมีใครนำอาร์เอฟไอดีเข้ามาใช้ติดทองรูปพรรณมาก่อน
“ถึงจะมีความพยายามพัฒนาเครื่องอ่านคลื่นวิทยุครั้งละมากๆ หรือเครื่องอ่านแบบถาด แต่ประสิทธิภาพยังคงคลาดเคลื่อน ไม่แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างอะไรกับการอ่านทีละชิ้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์ด้านเวลาที่การตรวจนับสินค้า” เขาอธิบาย
จนกระทั่งทีมงานสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้สำเร็จจากความร่วมมือระหว่างร้านทองเที่ยงธรรม โดยจำกัด ที่แยกตัวออกมาดูธุรกิจเทคโนโลยีสำหรับร้านทองโดนเฉพาะ และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีจากบริษัทเอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมแก้ปัญหา โดยปรับลดความถี่คลื่นวิทยุลงมาจากย่านความถี่เดิมทำให้ปัญหาสัญญาณรบกวนหมดไปจนสามารถนำอาร์เอฟไอดีมาใช้กับทองรูปพรรณในร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสามารถอ่านค่าจากป้ายอาร์เอฟไอดีได้พร้อมกันมากกว่า 300 แท็กในเวลาไม่ถึง 10 วินาที และสามารถอ่านค่าได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ถึงป้ายถูกวางทับซ้อนกันก็อ่านได้ฉลุย
หลังประสบความสำเร็จนำป้ายอาร์เอฟไอดีออกจากแล็บร้านทองของตัวเองมาใช้จริง ตอนนี้ เขาพร้อมเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับร้านทองอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มต้นจากซอฟต์แวร์จัดการสินค้า ชื่อ ลากัส เครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีไร้สายแบบพกพาในรูปของพีดีเอ และเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีแบบถาดที่สามารถอ่านทองจำนวนมากได้พร้อมกัน ตลอดจนเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น เทคโนโลยีเพิ่มความปลอดภัยให้กับห้องมั่นคงหรือห้องนิรภัย เป็นต้น
“เราใช้วิธีอ่านบัตรประชาชนจากสมาร์ทการ์ด อ่านค่าลายนิ้วมือในธุรกิจฝากขายทองด้วยฟิงเกอร์ปรินท์ แทนวิธีการพิมพ์ลายนิ้วมือลงบนหมึก ทั้งหมดคือความพยายามนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เขากล่าว
ในอนาคต โมลีคิว มองถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ครบวงจร ทั้ง supply chain และ logistic การขนส่งที่ใช้อาร์เอฟไอดี ลายพิมพ์นิ้วมือ ระบบเมคคานิก และเซ็นเซอร์เข้ามาแทนที่กุญแจล็อค ซึ่งยังไม่เคยมีบริษัทคนไทยที่ทำธุรกิจนี้ครบวงจรมาก่อน
"เราหวังว่าโมลิคิวจะเป็นเจ้าแรกในการรวมเทคโนโลยีไว้ในที่เดียวกัน" เจ้าสัวเทคโนโลยีทองขอลุย
โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
ขอขอบคุณข่าวสารดีดี : nationejobs.com